มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
ระบบทางเดินอาหารของคนเรานั้น เริ่มต้นจากปาก ผ่านหลอดอาหาร ไปที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ด้วยเช่นเดียว กับตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี หากพูดถึงมะเร็งระบบทางเดินอาหารอาจเกิดขึ้นได้ ทุกๆ ตำแหน่ง และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด มะเร็งในระบบทางเดินอาหาร จัดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และทำให้เสียชีวิตมากกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายโดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร อาการที่ควรสงสัยคือ ปวดจุกที่ลิ้นปี่ หรืออาเจียนเป็นเลือดดำหรือแดง อาการอื่นที่พบได้ เช่น ก้อนที่ลิ้นปี่ ปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง จากมะเร็งกระเพาะอาหารทะลุ อาเจียนหลังทานอาหารสักพักจากภาวะกระเพาะอาหารอุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อาการที่ควรสงสัยคือ ถ่ายเป็นเลือดแดง การขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องเสียสลับท้องผูกบ่อยๆ ก้อนที่ทวารหนัก อาการอื่นที่พบได้ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง อาจเฉพาะที่หรือเปลี่ยนที่ไปมาไม่ถ่ายไม่ผายลม ปวดท้องรุนแรง มากจากภาวะลำไส้อุดตัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เกิดได้จากสองปัจจัยหลัก คือปัจจัยภายใน อันเป็นเรื่องของพันธุกรรม เชื้อชาติ ประวัติการเจ็บป่วยมีโรคมะเร็งทางเดินอาหาร ในครอบครัวหรือเคยเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นมาก่อน และปัจจัยภายนอก คือสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม การบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง พวกเอ็นไนโตรโซ (N-Nitroso Compounds) ที่พบมากในอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารหมักดอง อาทิ ปลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ปลาร้า เบคอน ปลาหมึกตากแห้ง กุนเชียง เป็นต้น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทำอย่างไรจะตรวจพบมะเร็ง ในระบบทางเดินอาหารในระยะแรกๆ การตรวจมะเร็งในระบบทางเดินอาหารทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับมะเร็งเกิดขึ้นที่ทางเดินอาหารส่วนใด *การซักประวัติ ตรวจร่างกาย *การตรวจเลือด ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง *การตรวจหาเลือดในอุจจาระ *การตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ช่องท้องสำหรับการตรวจที่สำคัญซึ่งช่วยในการวินิจฉัย โรคในระบบทางเดินอาหารได้ดีคือ การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ดังนี้ *การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy) เป็นการใช้ท่อขนาดเล็กสอดเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจดูว่าหลอดอาหารมีการตีบตันหรือไม่ มีแผลในกระเพาะอาหาร เนื้องอก หรือมีภาวะเลือดออกในช่องท้องหรือเปล่า *การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการใช้ท่อขนาดเล็กสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจดู ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง และส่วนต้น ผ่านไปจนถึง ลำไส้เล็กส่วนปลาย เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ริดสีดวงทวาร ลำไส้อักเสบ ภาวะเลือดออกในลำไส้ใหญ่ หรือเนื้องอก…เพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงใช้รักษาก้อนเนื้อ ในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็งได้อีกด้วย การตรวจวิธีนี้สามารถตรวจพบ ติ่งเนื้อขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นมะเร็ง หรือมะเร็งระยะแรกที่ยังอยู่แค่ผนังส่วนตื้น ๆ ของทางเดินอาหารไปจนถึงมะเร็งระยะลุกลามแล้ว จะรู้ได้อย่างไร ว่าเมื่อไหร่ควรพบแพทย์เพื่อส่องกล้อง? การส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นวิธีที่ได้ผลแม่นยำ มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบสาเหตุได้ แม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย และยังสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจ เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยที่ควรทำการตรวจคือ ผู้ป่วยที่ปวดท้องเรื้อรัง รักษาด้วยการทานยา แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียนเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยที่มีอาการในระบบทางเดินอาหาร ตอนอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารเช่น อาเจียน เป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายเป็นเลือด ตรวจอุจจาระพบว่า มีเลือดปนเปื้อน หรือ ปวดท้องร่วมกับตรวจเจอว่าซีด และ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย กรุณาติดต่อ : แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพเมืองราช
โทร. 032-322274-80 ต่อ 249, 250