นอนหลับอย่างไรให้ได้คุณภาพ
  เรื่องง่ายๆ ที่สำคัญต่อการนอนหลับ การนอนหลับที่ดีจะทำให้ร่างกายเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และมีพลังพร้อมที่จะทำกิจกรรมในวันต่อไป คนเราใช้เวลาหนึ่งในสามของวันกับการนอน พฤติกรรมบางอย่างระหว่างวันโดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนนอนอาจส่งผลต่อสุขภาพการนอนของเราได้ นอนเท่าใดจึงจะพอดี จำนวนชั่วโมงจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย – เด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมง – เด็กช่วงอนุบาล 3-5 ปี ควรนอน 10-13 ชั่วโมง – เด็กวัยประถม 6-13 ปี ควรนอน 9-11ชั่วโมง – เด็กมัธยม 14-17 ป ควรนอน 8-10 ชั่วโมง – ช่วงมหาวิทยาลัย-ผู้ใหญ่ 18 ปีขึ้นไป ควรนอน 6-8 ชั่วโมง ทั้งนี้ จำนวนที่เพียงพออาจต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ถ้าคุณมีปัญหานอนไม่หลับ การปรับกิจวัตรประจำวันเพียงเล็กน้อย เช่น การดื่มหรือ การรับประทานอาหาร กิจกรรมที่ทำในช่วงเย็นการปรับตารางเวลา จะทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้นหลับต่อเนื่องมากขึ้น และมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น เคล็ดไม่ลับพฤติกรรมส่งเสริมการนอนหลับที่ดี
  • ผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน สามารถทำได้หลายวิธี เช่น อาบน้ำอุ่นทำสมาธิ เหยียดกล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • ตรงเวลา ควรเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาเดียวกันทุกๆ วัน(+/- 20 นาที) แม้จะเป็นวันหยุดพักผ่อนก็ตาม
  • นอนให้พอ จัดเวลานอนเพื่อให้ได้จำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมในแต่ละวัย
  • ง่วงแล้วค่อยนอน ควรลงนอนบนเตียงเมื่อเริ่มง่วง
  • ไม่หลับอย่าฝืน ควรลุกขึ้นจากเตียงหากนอนไม่หลับนานเกิน 20 นาที และหากิจกรรมอย่างอื่นทำ โดยหลีกเลี่ยงแสงสว่างและการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าง่วงแล้วค่อยกลับไปนอนอีกครั้ง
  • จัดห้องนอนให้ดี ห้องนอนควรเงียบ มืด สบาย อุณหภูมิเหมาะสม และอากาศถ่ายเท
  • ใช้เตียงสำหรับ เพื่อนอนหลับ และกิจกรรมทางเพศเท่านั้น ไม่ควรอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ หรือไม่ทำกิจกรรมอื่นบนเตียงเพราะมีผลทำให้นอนไม่หลับได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้หลับได้ดีขึ้น ควรออกกำลังกายช่วงเช้าหรือก่อนบ่าย 2 โมง และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที เช่นคอมพิวเตอร์ มือถือ
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อลดความอึดอัดทำให้หลับไม่สนิทและลดการเกิดภาวะกรอไหลย้อน ถ้าหิวกลางดึกให้รับประทานอาหารเบาๆ ย่อยง่าย
  • ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยานอนหลับ จริงที่การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้หลับได้ง่าย และเร็วขึ้น แต่จะส่งผลให้นอนหลับได้ไม่ลึกและตื่นได้ง่าย ผู้ที่มีภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้หลีกเลี่ยงการบริโภคสารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม สามารถดื่มได้ก่อนเที่ยงเนื่องจากคาเฟอีนออกฤทธิ์ได้นาน 6-7 ชั่วโมง ส่งผลให้สมองตื่นตัว นอนไม่หลับ
  • ไม่ควรนอนกลางวัน หากง่วงนอน สามารถงีบหลับระหว่างวันได้ก่อนบ่าย 2 โมงแต่ไม่ควรนอนเกิน 20 นาที จะช่วยให้สมองสดชื่นขึ้น การนอนนานกว่านี้อาจทำให้มึนศีรษะ และหลับยากในตอนกลางคืน
เทคนิคการผ่อนคลายโดยการฝึกการหายใจ การผ่อนคลายก่อนนอนหลับ ช่วยให้คลื่นสมองสงบเป็นระเบียบ ทำให้เราหลับได้ง่ายขึ้นและไม่ตื่นกลางดึก สามารถทำได้ง่ายๆก่อนนอน มีวิธีการดังนี้
  1. นั่งในท่าที่สบาย และหลับตามือประสานไว้ที่หน้าท้อง
  2. ค่อยๆหายใจเข้า พร้อมกับนับตัวเลข 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้าๆ 1..2..3..4..ให้มือรู้สึกว่าท้องพองออก
  3. กลั้นหายใจไว้ชั่วครู่ นับ 1 ถึง 4 เป็นจัวหวะช้าๆเช่นเดียวกับตอนหายใจเข้า
  4. ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก โดยนับ 1 ถึง 4 อย่างช้าๆ สังเกตว่าหน้าท้องแฟบลง
  5. ทำซ้ำแบบเดิม พยายามทำด้วยความผ่อนคลาย ให้จดจ่อที่ลมหายใจ โดยไม่คิดเรื่องนอนไม่หลับ
  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย กรุณาติดต่อ : แผนกระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพเมืองราช
โทร. 032-322274-80 ต่อ 380, 381